เรื่องของดวงดาวกับมนุษย์ในพระไตรปิฎก
หน้าแรกโหราศาสตร์ประวัติศาสตร์: HistAstro.blogspot.com
วันนี้ผู้เขียนทำงานประจำมาตลอดทั้งวันจนดึก ขณะนี้ก็เลยเที่ยงคืนมาเกือบครึ่งแล้ว แต่เมื่อมาดูยอดวิวในโพสต์ปรากฏว่าวันนี้ยังมีผู้ติดตามมาอ่านโพสต์ทั้งๆ ที่ผู้เขียนก็ไม่ได้เขียนอะไรมาสองวันแล้ว จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะเขียนโพสต์นี้ออกมาให้ท่านได้อ่านกันก่อนที่จะพักผ่อน
วันนี้เลยขอนำข้อมูลจากพระไตรปิฎกที่เป็นหลักฐานอ้างอิงว่าดวงดาวกับมนุษย์นั้นเกี่ยวข้องกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้พระพุทธองค์จะทรงสอนให้เชื่อกฎแห่งกรรมและไม่มีพระประสงค์ให้ชาวพุทธเชื่ออิทธิพลของดวงดาวอย่างงมงาย แต่วิชาโหราศาสตร์ก็พิสูจน์ตนเองมาเป็นเวลายาวนานว่าสามารถตอบคำถามเกี่ยวกับอนาคตของคนได้ไม่มากก็น้อย แม้แต่ในสมัยที่พระพุทธองค์ยังทรงพระเยาว์เป็นเจ้าชายน้อยก็ยังมีโหราจารย์ในสมัยนั้นพยากรณ์ว่าพระองค์จะได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต บ่งบอกว่าวิถีชนชาวเอเชียหลีกหนีไม่พ้นจากโหราศาสตร์ตั้งแต่เกิดจนสิ้นลมหายใจ
โพสต์นี้ขออนุญาตนำพระสูตรชื่อ อธัมมิกสูตร ซึ่งว่าด้วยพระราชาผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรมและผู้ตั้งอยู่ในธรรม มานำเสนอเป็นตอนพิเศษ (เผื่อว่าพรุ่งนี้ผู้เขียนไม่ได้เขียนอีก ท่านก็จะได้อ่านตอนนี้ไปพลางๆ ก่อน)
ในพระสูตรนี้จะบอกชัดเจนว่าดวงดาวสัมพันธ์กับคน คนสัมพันธ์กับดวงดาว ดวงดาวบ่งบอกพฤติกรรมของคน การกระทำของคนสะท้อนให้เห็นได้จากการโคจรของดวงดาว คำว่าหมู่ดาวนักษัตรในพระสูตรนี้ก็คือหมู่ดาวประจำราศีทั้ง 12 ราศีนั่นเอง ได้แก่ ดาวแกะ ราศีเมษ ดาววัว ราษีพฤษภ ดาวคนคู่ ราศีมิถุน เป็นต้น นี่เป็นกลุ่มดาวแบบตำราฝรั่ง แต่ตามตำราดาวของโหรไทยจะแบ่งกลุ่มดาวนักษัตรเป็น 27 กลุ่ม ซึ่งก็คือกลุ่มดาวเดียวกันกับดาว 12 ราศี เพียงแต่มีวิธีมองกันคนละมุม ทำให้เห็นดาวเป็นรูปร่างที่ต่างกัน มีชื่อเรียกต่างกัน
เมื่อท่านอ่านพระสูตรนี้จบก็จะทราบได้ทันทีว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงให้เห็นว่ามนุษย์กับดวงดาวและธรรมชาติต่างก็สัมพันธ์กันเมื่อคนบนโลกมีศีลธรรม ดวงดาวก็โคจรปกติ ฤดูกาลก็เป็นปกติ เมื่อคนบนโลกขาดศีลธรรม ดวงดาวก็โคจรผิดปกติ ฤดูกาลก็แปรปรวนและสุดท้ายก็ส่งผลเสียต่อมนุษย์บนโลกนี้เอง
ที่มา: พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๓ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
[๗๐] ภิกษุทั้งหลาย ในเวลาที่พระราชาไม่ตั้งอยู่ในธรรม๑- แม้พวกข้าราชการ
ก็ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อพวกข้าราชการไม่ตั้งอยู่ในธรรม แม้พราหมณ์และคหบดี
ก็ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อพราหมณ์และคหบดีไม่ตั้งอยู่ในธรรม แม้ชาวนิคมและชาว
ชนบทก็ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อชาวนิคมและชาวชนบทไม่ตั้งอยู่ในธรรม ดวงจันทร์
และดวงอาทิตย์ก็โคจร(หมุน)ไปไม่สม่ำเสมอ เมื่อดวงจันทร์และดวงอาทิตย์โคจรไป
ไม่สม่ำเสมอ หมู่ดาวนักษัตรก็โคจรไปไม่สม่ำเสมอ เมื่อหมู่ดาวนักษัตรโคจรไปไม่
สม่ำเสมอ คืนและวันก็หมุนเวียนไปไม่สม่ำเสมอ เมื่อคืนและวันหมุนเวียนไปไม่
สม่ำเสมอ เดือนหนึ่งและครึ่งเดือนก็หมุนเวียนไปไม่สม่ำเสมอ เมื่อเดือนหนึ่งและ
ครึ่งเดือนหมุนเวียนไปไม่สม่ำเสมอ ฤดูและปีก็หมุนเวียนไปไม่สม่ำเสมอ เมื่อฤดู
และปีหมุนเวียนไปไม่สม่ำเสมอ ลมก็พัดไปไม่สม่ำเสมอ พัดไปผิดทางไม่สม่ำเสมอ
เมื่อลมพัดไปไม่สม่ำเสมอ พัดไปผิดทางไม่สม่ำเสมอ พวกเทวดาก็ขัดเคืองใจ
เมื่อพวกเทวดาขัดเคืองใจ ฝนก็ไม่ตกต้องตามฤดูกาล เมื่อฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล
ข้าวกล้าทั้งหลายก็ออกรวงสุกไม่พร้อมกัน
ภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ทั้งหลายบริโภคข้าวกล้าที่สุกไม่พร้อมกันย่อมมีอายุน้อย ๑
มีผิวพรรณไม่ดี ๑ มีกำลังไม่ดี ๑ มีความเจ็บป่วยมาก ๑
ในเวลาที่พระราชาตั้งอยู่ในธรรม แม้พวกข้าราชการก็ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อพวก
ข้าราชการตั้งอยู่ในธรรม แม้พราหมณ์และคหบดีก็ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อพราหมณ์
และคหบดีตั้งอยู่ในธรรม แม้ชาวนิคมและชาวชนบทก็ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อชาวนิคม
และชาวชนบทตั้งอยู่ในธรรม ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ก็โคจรไปสม่ำเสมอ เมื่อ
ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์โคจรไปสม่ำเสมอ หมู่ดาวนักษัตรก็โคจรไปสม่ำเสมอ
เมื่อหมู่ดาวนักษัตรโคจรไปสม่ำเสมอ คืนและวันก็หมุนเวียนไปสม่ำเสมอ เมื่อคืน
และวันหมุนเวียนไปสม่ำเสมอ เดือนหนึ่งและครึ่งเดือนก็หมุนเวียนไปสม่ำเสมอ
เมื่อเดือนหนึ่งและครึ่งเดือนหมุนเวียนไปสม่ำเสมอ ฤดูและปีก็หมุนเวียนไปสม่ำเสมอ
เมื่อฤดูและปีหมุนเวียนไปสม่ำเสมอ ลมก็พัดไปสม่ำเสมอ พัดไปถูกทางสม่ำเสมอ
เมื่อลมพัดไปสม่ำเสมอ พัดไปถูกทางสม่ำเสมอ พวกเทวดาก็ไม่ขัดเคืองใจ เมื่อ
พวกเทวดาไม่ขัดเคืองใจ ฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล เมื่อฝนตกต้องตามฤดูกาล
ข้าวกล้าทั้งหลายก็ออกรวงสุกพร้อมกัน
ภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ทั้งหลายบริโภคข้าวกล้าสุกพร้อมกันย่อมมีอายุยืน ๑
มีผิวพรรณผ่องใส ๑ มีกำลัง ๑ มีความเจ็บป่วยน้อย ๑
เมื่อฝูงโคข้ามน้ำไป
ถ้าโคจ่าฝูงไปคดเคี้ยว
โคทั้งฝูงก็ไปคดเคี้ยวตามกัน
ในเมื่อโคจ่าฝูงไปคดเคี้ยว
ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน
ผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้เป็นใหญ่
ถ้าผู้นั้นประพฤติไม่เป็นธรรม
ประชาชนชาวเมืองนั้นก็จะประพฤติไม่เป็นธรรมตามไปด้วย
หากพระราชาไม่ตั้งอยู่ในธรรม
ชาวเมืองนั้นก็อยู่เป็นทุกข์
เมื่อฝูงโคข้ามน้ำไป
ถ้าโคจ่าฝูงไปตรง
โคทั้งฝูงก็ไปตรงตามกัน
ในเมื่อโคจ่าฝูงไปตรง
ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน
ผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้เป็นใหญ่
ถ้าผู้นั้นประพฤติชอบธรรม
ประชาชนชาวเมืองนั้นก็จะประพฤติชอบธรรมตามไปด้วย
หากพระราชาตั้งอยู่ในธรรม
ชาวเมืองนั้นก็อยู่เป็นสุข
อธัมมิกสูตรที่ ๑๐ จบ
เชิงอรรถ :
@๑ ไม่ตั้งอยู่ในธรรม หมายถึงไม่เก็บพลี (ภาษี) ๑๐ ส่วนที่พระราชาในกาลก่อนตั้งไว้ และอาชญาอันสมควรแก่ความผิด เก็บพลีเกินและลงอาชญาเกินความผิด (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๗๐/๓๕๗)
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๑๑๔}
หน้าแรกโหราศาสตร์ประวัติศาสตร์: HistAstro.blogspot.com
ฤทธิ์พยากรณ์@โหราศาสตร์ประวัติศาสตร์
27 ธันวาคม 2563 01.36