ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ นายกฯ คนที่ 7
Dr.Pridi Banomyong, 7th Prime Minister of Thailand; Wikimedia Commons. |
หน้าแรกโหราศาสตร์ประวัติศาสตร์: HistAstro.blogspot.com
เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม 2443 เวลา 13.00 น. ณ เรือนแพหน้าวัดพนมยงค์ ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในครอบครัวชาวนา เป็นบุตรของนายเสียงและนางลูกจันทน์ พนมยงค์
ผู้เขียนค้นพบหลักฐานเวลาเกิดได้จากสองแหล่งที่ห่างกันเล็กน้อย จึงจัดทำดวงแบบสิบลัคนาไว้สองแบบ นักโหราศาสตร์สามารถลองใช้ความรู้วิเคราะห์ว่าควรเป็นแบบใด แต่ความเป็นผู้ริเริ่มและผู้นำในด้านต่างๆ ที่โดดเด่นทำให้ผู้เขียนตัดสินใจวางลัคนาท่านไว้ที่ราศีผู้นำ และไม่ว่าจะวางดวงชาตาแบบไหนก็บ่งบอกว่าสติปัญญาเป็นเลิศและสามารถเรียนจบได้ถึงระดับด็อกเตอร์แน่นอน และดวงชาตาบ่งบอกว่าท่านจะต้องเสียบุตรหรืออยู่ห่างไกลจากบุตรและก็เป็นความจริงที่บุตรของท่านเสียชีวิตก่อนท่าน รวมถึงปีที่สมรสก็ตรงกับเวลาที่ควรมีคู่ในดวงชาตา
ดร.ปรีดีสมรสกับท่านผู้หญิงพูนศุข ณ ป้อมเพชร์ (ธิดามหาอำมาตย์ตรี พระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร) กับคุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (สุวรรณศร)) เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2471 โดยท่านผู้หญิงมีอายุอ่อนกว่าปรีดี 12 ปี มีบุตร-ธิดาด้วยกันทั้งหมด 6 คน
บรรพบุรุษของดร.ปรีดีตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้วัดพนมยงค์มาช้านาน บรรพบุรุษข้างบิดาสืบเชื้อสายมาจากพระนมในสมัยกรุงศรีอยุธยาชื่อ "ประยงค์" พระนมประยงค์เป็นผู้สร้างวัดในที่สวนของตัวเอง วัดนั้นได้ชื่อตามผู้สร้างว่า วัดพระนมยงค์ หรือ วัดพนมยงค์ ภายหลังมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติขนานนามสกุล พ.ศ. 2456 ทายาทจึงได้ใช้นามสกุลว่า "พนมยงค์"
หลังสอบไล่ได้ชั้นมัธยม 6 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดสำหรับหัวเมือง (โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย) แล้ว ปรีดีได้ไปศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ในปี 2460 อายุได้ 17 ปี เข้าศึกษาที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม และศึกษาภาษาฝรั่งเศสที่เนติบัณฑิตยสภา ปรีดีรู้สึกประทับใจกับอาจารย์ชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งชื่อ เลเดแกร์ (Laydeker) ซึ่งเป็นที่ปรึกษากระทรวงยุติธรรมด้วย ต่อมาสอบไล่วิชากฎหมายชั้นเนติบัณฑิตได้ในขณะมีอายุ 19 ปี ต่อมาได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงยุติธรรมให้ทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศสในปี 2463 ท่านใช้เวลาเรียนเตรียมภาษาฝรั่งเศส ภาษาละติน และภาษาอังกฤษก่อนหนึ่งปี แล้วสามารถสอบเข้าศึกษาวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยก็อง (Université de Caen) จนสอบไล่ได้ปริญญารัฐเป็น "บาเชอลีเย" สาขากฎหมาย (bachelier en droit) และได้ปริญญารัฐเป็น "ลีซ็องซีเย" สาขากฎหมาย (Licencié en Droit) ตามลำดับ ทั้งนี้หลักสูตรลีซ็องซีเยของฝรั่งเศสได้รวบรวมความรู้หลายด้าน ทั้งการยุติธรรม ศาล มหาดไทย คลัง ต่างประเทศ ท่านสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขานิติศาสตร์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีสในปี 2469 นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ปริญญาเอกแห่งรัฐ (doctorat d'état) เป็น "ดุษฎีบัณฑิตกฎหมาย" (docteur en droit) ฝ่ายนิติศาสตร์ (sciences juridiques) นอกจากนี้ท่านยังสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงในสาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง (diplôme d'études supérieures d'économie politique) อีกด้วย
เมื่อกลับถึงจังหวัดพระนครในเดือนเมษายน 2470 ท่านเริ่มทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาประจำกระทรวงยุติธรรม ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมาย (ปัจจุบันคือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา) และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงประดิษฐ์มนูธรรม" (ต่อมาได้ลาออกจากบรรดาศักดิ์ในปี 2485)
นอกจากงานที่กรมร่างกฎหมายแล้ว ดร.ปรีดียังเป็นอาจารย์ผู้สอนที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ในชั้นแรกได้สอนวิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ว่าด้วยลักษณะหุ้นส่วน บริษัทและสมาคม ต่อมาได้สอนวิชากฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล ในปี 2474 ดร.ปรีดีเป็นคนแรกที่เริ่มสอนวิชากฎหมายปกครอง (Droit Administratif) กล่าวกันว่าวิชากฎหมายปกครองนี้ เป็นวิชาที่สร้างชื่อเสียงแก่ปรีดีเป็นอย่างมาก
ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งและมีหน้าที่การงานหลายบทบาทไม่ว่าเป็นนักกฎหมาย อาจารย์ นักกิจกรรม นักการเมือง และนักการทูตชาวไทยผู้ได้รับการยกย่องเกียรติคุณอย่างสูง เป็นรัฐบุรุษอาวุโส ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 7 และรัฐมนตรีหลายกระทรวง หัวหน้าสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้ประศาสน์การ (ผู้ก่อตั้ง) มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และเป็นผู้ก่อตั้งธนาคารชาติไทย (ปัจจุบันคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย)
เวลา 11 นาฬิกาเศษ ของวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 ดร.ปรีดี พนมยงค์ สิ้นใจด้วยอาการหัวใจวายขณะกำลังเขียนหนังสืออยู่ที่โต๊ะทำงาน ณ บ้านอ็องโตนี ชานกรุงปารีส รวมอายุ 82 ปี 11 เดือน 21 วัน
ครอบครัวให้อัญเชิญอัฐิของดร.ปรีดีกลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2529
ทุกวันที่ 11 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาล เมื่อ ค.ศ. 2000 ศจ.ดร.ปรีดีได้รับการประกาศยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก และได้มีการบรรจุชื่อไว้ในปฏิทินเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญของยูเนสโกอีกด้วย
ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง
สมัยที่ 1 - 24 มีนาคม 2489 - 7 มิถุนายน 2489
สมัยที่ 2 - 7 มิถุนายน 2489 - 11 มิถุนายน 2489
สมัยที่ 3 - 11 มิถุนายน 2489 - 23 สิงหาคม 2489
ฤทธิ์พยากรณ์@โหราศาสตร์ประวัติศาสตร์
15 มีนาคม 2564: 13.16 น.
แหล่งที่มาของข้อมูล